วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

รูปแบบการเสริมสร้างพลังอำนาจ บูรณาการและต่อยอดประสบการณ์เดิม ระบบการประกัน

รายงานการวิจัยเชิงคุณภาพ


เรื่อง ชื่อผู้วิจัย นายชลอ เอี่ยมสอาด ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครปฐมเขต 2

บทนำ
สภาพปัญหาการดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนด้านการประกันคุณภาพการศึกษาภายในโรงเรียน ตามความคิดเห็นของครูและผู้บริหารโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครปฐม เขต 2 จำแนกตามขนาดของโรงเรียน โดยภาพรวมมีปัญหาอยู่ในระดับมากทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เมื่อจัดเรียงลำดับปัญหาจากค่าคะแนนมากไปหาน้อย 3 ลำดับ พบว่า อันดับที่หนึ่งคือ ด้านการประเมินคุณภาพการศึกษา อันดับที่สอง คือ ด้านการพัฒนามาตรฐานการศึกษาและอันดับที่สาม คือด้านการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ปัญหาการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาภายในโรงเรียนด้านการตรวจสอบและทบทวนคุณภาพภายในโรงเรียน ปัญหาอันดับที่หนึ่งปัญหาการกำหนดเป้าหมาย ขอบข่ายและแนวดำเนินการในการตรวจสอบและทบทวนคุณภาพภายในโรงเรียน ด้านการผดุงระบบประกันคุณภาพการศึกษา ปัญหาอันดับที่หนึ่งคือปัญหาการวางแผนพัฒนาบุคลากรเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา (สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครปฐม เขต 2 2552 : 2-3)
หลักการและแนวคิดในการพัฒนา
การสร้างความสนใจอย่างต่อเนื่อง ขัาพเจ้าอาศัยแนวคิดของ “การจูงใจ” หมายถึง กระบวนการโน้มนำพฤติกรรมการทำงานของบุคคล ให้มุ่งสู่เป้าประสงค์ด้วยความสมัครใจในการจูงใจข้าพเจ้าใช้แนวคิดของการนิเทศแบบทางอ้อม โดยผู้นิเทศป้อนข้อมูลบางส่วนและกระตุ้นครู ให้สิ่งที่เป็นตัวอย่างและไม่ใช่ตัวอย่าง ถามคำถามนำไปสู่การค้นหาคำตอบ ส่งเสริมให้ครูใช้คำตอบจากประสบการณ์ ความคิดของตน และจากสิ่งที่ทำการสอนไปแล้ว และนำคำตอบเหล่านั้นมาประเมินเพื่อหาคำตอบที่เหมาะสมในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้วยการประกันคุณภาพภายใน โดยผู้นิเทศอาจให้คำแนะนำได้ตามความจำเป็น(ชาญชัย อาจิณสมาจาร.2546).

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
เพื่อพัฒนารูปแบบการนิเทศในลักษณะบูรณาการและต่อยอดประสบการณ์เดิม
แนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ตามมาตรฐานการศึกษาชาติ เป็นไปด้วยสาระบัญญัติมาตรา 47 – 51 ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2545 สถานศึกษาต้องจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา และให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและการเตรียมเพื่อรองรับการประเมินจากองค์การภายนอกเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องและใน “ การประชุมวางแผนการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในเพื่อยกระดับคุณภาพของสถานศึกษา ” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐานจัดประชุมฯ ณ โรงแรมบางกอกพลาเลส กรุงเทพฯ
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา บรรยายพิเศษ ให้ข้อคิดในการดำเนินงานว่า ผู้บริหารทุกระดับต้องให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา โดยให้ข้อคิดในการทำงานให้สำเร็จ 3 ประการ ได้แก่ 1. ปลุกให้ตื่น : หมายถึงให้คนอื่นรับทราบ และมีส่วนร่วม มีฐานข้อมูล รู้บทบาทหน้าที่ 2. ยืนให้มั่น : หมายถึง มีวิธีการทำงาน ควรเริ่มจากการวิเคราะห์ข้อมูล กลับกลุ่มคุณภาพและดำเนินการพัฒนาในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย 3. ลงลึกให้เป็นวัฒนธรรม : หมายถึงหลังจากทำงานเสร็จแล้ว ควรมีการชื่นชม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาดูงาน และให้ขวัญกำลังใจโดยเน้น 1. ผอ.สพท. ต้องรู้จักโรงเรียนเป็นรายโรง ( โรงเรียนใดให้ความสำคัญ และโรงเรียนใดไม่ให้ความสำคัญ ) 2. ประชุมให้คนในองค์กรรับทราบและให้ความสำคัญ 3. เสนอให้เป็นนโยบายสำคัญ ให้เป็นวาระแห่งจังหวัด
ศ.ดร.สมหวัง พิทยานุวัฒน์ บรรยายพิเศษ “ ผลการประเมินภายนอกรอบสอง และทิศทางการประเมินภายนอกรอบสาม ” โดยกล่าวว่า 1.มาตรฐานสถานศึกษาให้ใช้เกณฑ์ของ สมศ. และสถานศึกษาที่ไม่ผ่านการรับรอง รัฐบาลต้องช่วยพัฒนา 2.โรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมิน ส่วนใหญ่เป็นโรงรียนขนาดเล็ก 3.นโยบานเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาโรงเรียน 4.การประเมินเพื่อพัฒนา กระทรวงต้องเร่งนำร่องก่อน 4.สถานศึกษาที่มีคุณภาพ คือสถานศึกษาที่ทำประกันคุณภาพภายในอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้เรียนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ทิศทางการประเมินภายนอก รอบสาม มีประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น ประเด็นที่ 1 : ในการประเมินภายนอกรอบสามใช้มาตรฐานชุดเดียวในการประเมินสถานศึกษาทั้งประเทศ มาตรฐานที่กำหนดให้น้ำหนักร้อยละ 75 เน้นผลผลิตและผลลัพธ์จากการจัดการศึกษา ซึ่งหมายถึงคุณภาพผู้เรียน ประเด็นที่ 2 : การประเมินคุณภาพผู้เรียนด้านความคิด และความสุข ให้พิจารณาจากกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ส่วนความสามารถ ให้ใช้ผลการทดสอบระดับชาติ ประเด็นที่ 3 : ใช้การประเมินแบบอิงเกณฑ์ ส่วนการประเมินอิงสถานศึกษานั้นให้กำหนดไว้ในการประกันคุณภาพภายใน และมีการประเมินในระดับกลุ่มสาระที่มีความสำคัญก่อน 5 กลุ่มสาระ ประเด็นที่ 4 : กำหนดให้การประกันคุณภาพภายในเป็นมาตรฐานหนึ่งในการประเมินนอกจากนั้น ยังให้ข้อคิดว่า 1.การประเมินภายในต้องเน้นวิธีการพัฒนา ไม่ใช่เน้นการประเมิน2.เน้นการบริหารจัดการกลุ่มสาระ และการเรียนการสอน 3.การใช้ผลทดสอบ o-net ต่อไปอาจใช้ผลของเขตพื้นที่ 4.ความดี และความสุข วัดที่กระบวนการ ไม่ใช่ผลผลิต 5.ร่างมาตรฐานภายนอก รอบสาม มีอย่างน้อย 5 มาตรฐาน ได้แก่1.ผู้เรียนเป็นคนดี 2.ผู้เรียนมีความสามารถ 3.ผู้เรียนมีความสุข 4.ครูสอนเก่ง สอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและเป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้เรียน4. สถานศึกษามีการประกันคุณภาพภายในและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง6.สพท. ควรจัดทำข้อสอบมาตรฐาน 7.หากมีการรวมกลุ่มสถานศึกษาขนาดเล็ก ให้สพท.มีหนังสือแจ้ง สมศ. ยืนยันว่ามีการรวมกลุ่มกันอย่างไร เพื่อให้ สมศ. เข้ามาประเมินภายนอก 8.ควรสร้างความตระหนักในเรื่องการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาให้ผู้บริหารสถานศึกษา 9.การประเมินซ้ำสถานศึกษาที่ไม่ได้รับการรับรอง สมศ. จะเริ่มดำเนินการประมาณ ต้นปี 2553 จำนวน 100 แห่งก่อน ( โดยสมศ. กำลังหางบประมาณสนับสนุน ) 10.สพท. ต้องเข้มงวดกับการประเมินจริง 11.ในการประเมินซ้ำเป็นการประเมินใหม่ทุกมาตรฐาน ไม่ใช่ประเมินเฉพาะมาตรฐานที่ไม่ผ่านการรับรอง
ศ.ดร.สุวิมล ว่องวาณิช บรรยายพิเศษ การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาอย่างยั่งยืน ให้ข้อเสนอแนะว่า เขตพื้นที่ควรมีบทบาท ดังนี้ 1.วางระบบประกันคุณภาพ การช่วยเหลือของเขตพื้นที่ 2.เขตพื้นที่ต้องมีมาตรฐานของตนเอง และต้องมีการวางระบบการประกันคุณภาพ 3.ทำให้การประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษายั่งยืน 4.สถานศึกษาต้องมีมาตรฐาน มีแผนพัฒนาคุณภาพ มีข้อมูลสารสนเทศ มีคนดูแลมาตรฐาน 5.มีการตรวจสอบ ประเมินคุณภาพภายใน 6.วิเคราะห์ผลของการประเมินภายนอกและจัดทำแผนช่วยเหลือสถานศึกษา 7.กำกับ ติดตามการปรับปรุงของสถานศึกษา 8.จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บทบาทของสถานศึกษา 1.วางระบบประกันคุณภาพภายใน 2.ประเมินคุณภาพภายใน 3.รับการประเมินคุณภาพภายนอก 4.ใช้ผลการประเมินคุณภาพทั้งภายในภายนอก
ทฤษฎีและองค์ความรู้ของอัตมโนทัศน์ (self-concept) และการเห็นคุณค่าในตนเอง (self-esteem) มนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์ทั่วไปโดยสิ้นเชิง ยิ่งกว่านั้นมนุษย์ด้วยกันก็มีความแตกต่างระหว่างกันเป็นสำคัญด้วย ความเป็นเอกลักษณ์หรือความไม่เหมือกันของคนแต่ละคนนี้เองที่ได้ก่อให้เกิดการกระทำที่แตกต่างกันระหว่างบุคคล ความเป็นเอกลักษณ์มาจากความเป็นตนคือตัวเราทั้งตัวหรืออัตตะ (Self)
โรเจอร์ (Rogers) (อ้างถึงใน ลักขณา สิริวัฒน์, 2544 )ได้ให้ความหมายของ “ตน” ไว้ว่า คือ การรับรู้และความเชื่อถือเกี่ยวกับตนเองแต่ละบุคคลโดยผ่านกระบวนการ “การมองตน” หรือที่เรียกว่าอัตมโนทัศน์ (Self-concept) นั้นเอง ซึ่งการที่แต่ละคนมองเห็นอาจจะเป็น (1) ตนคือใครหรือเป็นคนอย่างไร (2) ตนตามข้อเท็จจริง และ (3) ตนตามอุดมคติหรือตนตามที่อยากเป็น ก็ได้
การพัฒนาอัตมโนทัศน์ (Self-concept) หรือความคิด ความรู้สึก หรือเจตคติที่บุคคลมีตนเองนี้ ลักขณา สิริวัฒน์ (2544) กล่าวว่า นักพฤติกรรมนิยามสรุปปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการพัฒนา ดังนี้
1. ศักยภาพที่มีมาแต่กำเนิด (Inborn potentialities) เป็นสิ่งติดตัวมาแต่กำเนิด ซึ่งอาจเป็นผล
มาจากพันธุกรรมและอิทธิพลต่างๆ ที่มีต่อทารกก่อนคลอด เหล่านี้ทำให้คนมีรูปร่างหน้าตา ความแข็งแรง สติปัญญาต่างกันไป
2. สิ่งแวดล้อมและการเรียนรู้ ทารกทุกคนมีประสบการณ์ต่างกัน สังคมและสิ่งเร้าที่มากระทบ
ในช่วงพัฒนาการแห่งชีวิตทำให้เกิดการเรียนรู้และรับรู้บทบาทของตนเองในสังคมที่อยู่ซึ่งประสบการณ์แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
2.1 ประสบการณ์ร่วมวัฒนธรรม ได้แก่ บุคคลในสังคมเดียวกันได้รับประสบการณ์ใน
ทำนองเดียวกันในด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม ความเชื่อ ทัศนคติ คำสั่งสอนต่างๆ ของสังคมตลอดเวลาที่เราเจริญเติบโต
2.2 ประสบการณ์เฉพาะ เป็นประสบการณ์ที่แต่ละบุคคลเผชิญหรือได้รับในช่วงชีวิตของเขา เช่น การเลี้ยงดู พฤิตกรรมของพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็ก อาจรวมถึงเหตุการณ์ที่ประสบอื่นๆเช่น ความผิดหวังจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย การสูญเสียคนรัก ความเจ็บป่วยหรือการได้รับความอยุติธรรมต่างๆ จากสังคม
สรุป ได้ว่า บุคคลทุกคนสามารถรับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวได้โดยการรับรู้ การเลือกที่จะรับรู้ และการแปลความของข้อมูลโดยอาศัยปัจจัยต่างๆ ที่ได้มีมาแต่กำเนิดหรือจากการเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตแต่ละช่วงเวลา การรับรู้มีความหมายกับบุคคลนั้น ถ้าการรับรู้เกี่ยวกับตนเองเป็นไปในทางลบ คือ การรับรู้ว่าตนเองต่ำกว่าความเป็นจริงของตนก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้งและปัญหาการจัดการเรียนรู้และช่วยเหลือของสังคม ควรเป็นการจัดบรรยากาศที่ส่งเสริมการรับรู้และการเรียนรู้ที่ทำให้บุคคลเกิดการรับรู้ที่ตรงตามความเป็นจริงและเป็นไปในทางบวกเพื่อให้เขารู้ถึงคุณค่าแห่งในตนเอง
อุปกรณ์และวิธีการดำเนินการวิจัย
การศึกษานี้ออกแบบเพื่อได้รับทราบความคิดเห็นและการตระหนักรู้ในคุณค่าในตนเอง (Self-esteem)ในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ด้วยการประกันคุณภาพภายใน ของผู้บริหารและครูที่เข้าร่วมวิจัยในโรงเรียนบ้านไผ่ล้อม
1. การออกแบบงานวิจัยและวิธีการวิจัย (Research design and method)
การเลือกผู้ให้ข้อมูล (Key informant) ซึ่งจะขอเรียกว่า “ผู้ร่วมวิจัย” ในรายงานนี้ ข้าพเจ้าเลือกผู้ให้ข้อมูลโดยใช้วิธีการสุ่มตามความสะดวก (Convenience randomized sampling) โดยการเลือกเวลาที่เหมาะสม นัดหมายแล้วเดินเข้าไปสัมภาษณ์ผู้ที่อยู่ในขณะเวลานั้นได้ผู้ให้ข้อมูลดังนี้
1. ผู้อำนวยการโรงเรียน นายณรงค์ชัย ศรีศศลักษณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านไผ่ล้อม
2. ครูผู้สอน 2 คน
คุณครูนันทพร เอี่ยมสาหร่าย หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
คุณครูกุลธิดา หนูวัฒนา หัวหน้ากลุ่มสาระวิทยาศาสตร์
2.การเก็บรวบรวมข้อมูล (Data collection)
การเก็บรวบรวมข้อมูล (Data collection) ขัาพเจ้าใช้วิธีเก็บรวบรวมข้อมูล ดังนี้
การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (participant observation) ข้าพเจ้าเข้าไปสังเกตการณ์สภาพแวดล้อม (Setting) และการทำงาน (Acting) ของผู้บริหารและครูโรงเรียนบ้านไผ่ล้อม
การสัมภาษณ์ (Interview) ข้าพเจ้าใช้วิธีการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ (Informal interview) ใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูล 3 ท่าน ใช้เวลาท่านละประมาณ 45 นาที มีการขออนุญาตจดบันทึกภาคสนาม (Fieldnote) และบันทึกเทป
ตัวอย่างประเด็นสัมภาษณ์ ดังต่อไปนี้
1.การจัดทำแผนปฏิบัติการ ประจำปีด้านวิชาการของสถานศึกษา และการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านวิชาการ
2.การจัดทำหน่วยการเรียนรู้และการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
3. การวางระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา และการดำเนินงานตามระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
3. การวิเคราะห์เรื่องราว (Narrative inquiry) ข้าพเจ้านำข้อมูลที่รวบรวมได้ทั้งหมดโดยการเขียนบันทึกและการถอดความในเทปบันทึกเสียงมาอ่าน-ฟัง-วิเคราะห์ข้อมูล
ผลการวิจัย
1. ข้อมูลจากการสังเกตการณ์
1.1 สภาพและบรรยากาศของสถานที่
อาคารที่ตั้ง
โรงเรียนบ้านไผ่ล้อม มีที่ทำการอยู่ที่ตำบลไผ่หูช้าง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นอาคารเรียนแบบ ป. 4 ก ชั้นเดียวทาสีเขียวอ่อน เหมือนกับอาคารเรียนโดยปกติทั่วไปในอำเภอบางเลน อยู่ในสภาพไม่เก่าไม่ใหม่รอบๆบริเวณมีการปลูกต้นไม้และประดับประดาไปด้วยไม้ประดับใบเขียว ด้านหน้าโรงเรียนมีสนามฟุตบอล 1 สนาม ด้านข้างโรงเรียนมีส้วมขนาด 5 ที่นั่ง 2 หลัง
1.2 บรรยากาศในการสัมภาษณ์
โรงเรียนบ้านไผ่ล้อมนี้ มี นายณรงค์ชัย ศรีศศลักษณ์ เป็นผู้บริหารสถานศึกษา มีหน้าที่กำกับดูแลกิจกรรมทุกอย่างในการบริหารจัดการสถานศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติทางราชการของครูซึ่งปฏิบัติงานประจำอยู่ที่โรงเรียนนี้จำนวน 2 คน

ครูคนที่1
ครู ก เป็นผู้สอนประจำชั้นประถมศึกษาปีที่1 และประถมศึกษาปีที่ 2
(ข้อมูลจำเพาะ : เพศหญิง อันดับ คศ.2 วิทยฐานะชำนาญการ)
ครูคนที่2
ครู ข เป็นผู้สอนประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และประถมศึกษาปีที่ 4
(ข้อมูลจำเพาะ : เพศหญิงหญิง อันดับ คศ.2 วิทยฐานะชำนาญการ)
บุคลากรทั้ง 2 คนนี้ เป็นครูประจำการของโรงเรียน ใช้หลักการของการปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียนโดยการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการจัดกระบวนการเรียนการสอนและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ควบคู่กับคุณธรรมในลักษณะองค์รวมให้แสดงศักยภาพที่ตนมีอยู่เพื่อสามารถจัดการเรียนรู้ในลักษณะของการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ
3.1 ความรู้สึกของผู้วิจัย
โดยภาพรวมแล้วจำนวนครูต่อนักเรียนเป็นไปตามเกณฑ์ของการจัดชั้นเรียนในการจัดการเรียนการสอนที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียนถ้ามีการออกแบบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพภายใต้การประกันคุณภาพภายในที่เข้มแข็งและการนิเทศการศึกษาแบบอ้อมที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ที่สอดรับกับบริบทสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน
3.2 การทำงานของผู้ถูกสัมภาษณ์
จากการไปสังเกต 2 ครั้ง พบว่าในขณะทำการสอน ครูต่างปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย แต่ระหว่างพักการสอนจะมีการสนทนา คุยเล่นสนุกสนาน สังเกตได้ว่าทุกคนพูดจาสุภาพ ไม่มีการใช้คำหยาบหรือคำพูดที่รุนแรง ครูทุกคนแต่งกายสุภาพ สำหรับครูสตรีนุ่งกระโปรง แต่ไม่มีใครทั้งหญิงและชายที่สวมรองเท้าแตะ ขณะที่ข้าพเจ้าไปสัมภาษณ์ครูที่อยู่ในห้องสอนก็ทำงานเป็นปกติ ในลักษณะสบายๆ เป็นธรรมชาติ ไม่ตื่นเต้น ไม่หวาดกลัว แสดงอาการรำคาญหรือแสดงความหงุดหงิดใดๆ และให้ความร่วมมือกับขัาพเจ้าอย่างดีมาก สำหรับคนที่ไม่ได้ถูกสัมภาษณ์ก็ทำหน้าที่ของตนเองเป็นปกติ ทักทายข้าพเจ้า และไม่ได้คอยสังเกตหรือคอยจับผิดขัาพเจ้า
3.3 ความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนการสอนและการประกันคุณภาพภายในโรงเรียนตามศักยภาพของแต่ละคน
จากการสัมภาษณ์พบว่าผู้ร่วมวิจัยส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจวัตถุประสงค์ จุดมุ่งหมาย และการดำเนินงานอย่างดี จะเห็นได้ขณะที่สัมภาษณ์ผู้ร่วมวิจัยจะเล่า ด้วยสีหน้าและน้ำเสียงบอกถึงความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานนี้ในโรงเรียน ดังจะเห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ของครู ดังนี้
ครูคนแรก (ครู ก.) เป็นครูที่มีประสบการณ์ในการทำงานค่อนข้างมากโดยครู ก. สอน โดยวิธีปกติทั่ว ๆ ไป โดยบทเรียนประจำวันเริ่มด้วยการบรรยายประมาณ 15 นาที หลังจากนั้นจึงให้เด็กทำแบบฝึกหัดที่เตรียมไว้ โดยครู ก. สรุปว่า ตำราของโรงเรียนที่ได้รับจัดสรรมาให้นักเรียนยืมเรียนค่อนข้างยากเกินไป จึงใช้วีธีให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดซึ่งมีเนื้อหาตัดตอนมาจากเอกสารที่โรงเรียนเตรียมไว้ให้
ข้าพเจ้า : ครูช่วยบรรยายให้เห็นประสิทธิภาพของวิธีการสอนของคุณได้ไหม?
ครู ก. : เท่าที่ดิฉันได้ดูมา จากเจตคติและอุปนิสัยในการเรียนของนักเรียน ดิฉันคิดว่า วิธีการ
สอนของดิฉันเป็นวิธีการสอนที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
ข้าพเจัา : คุณใช้กระบวนการในการส่งเสริมคุณลักษณะประเภทใดที่จะทำให้นักเรียนในห้องเรียนของคุณมีพฤติกรรมที่เหมาะสม

ครู ก. : ก็ไม่ได้ทำอะไรมากนัก แค่เอาตัวรอดให้ผ่านพ้นไปแต่ละวันก็พอแล้ว
ข้าพเจ้า : คุณครูได้มีส่วนในการจัดทำแผนปฏิติการของโรงเรียนในส่วนใดบ้างและมีวิธิการอย่างไร
ครู ก. : โรงเรียนเราเป็นโรงเรียนเล็กผอ.จะนำมาให้หมดแล้วก็แบ่งๆกันไปสิ้นปีก็มีแบบมาให้ตอบก็ตอบไปที่มันดีๆ ไม่รู้ว่าจะถูกใจท่าน ศน.ไหม แต่นี่เป็นเรื่องที่จริงค่ะแต่เมื่อได้พูดคุยกับ ศน.แล้วทำให้ต้องกลับไปให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ใหม่ ขอบคุณท่าน ศน. ที่มาแลกความรู้กัน ทำให้มีกำลังใจมากเลย อย่าลืมมาบ่อยๆนะ
ข้าพเจ้า : คุณเข้าใจในเรื่องความสำคัญของกระบวนการประกันคุณภาพภายในที่ช่วยให้นักเรียนมีผลการเรียนรู้ดีขึ้นอย่างไร
ครู ก. : ดิฉันก็สอนไปตามที่คู่มือที่โรงเรียนจัดให้ ส่วนเรื่องประกันคุณภาพเป็นเรื่องของ ผอ.เขาเราไม่มีสิทธิ์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยสำหรับนักเรียนในห้องนี้ทำอย่างไรนักเรียนที่อ่อนมันก็ไม่เห็นว่าจะเรียนเก่งขึ้น ดิฉันว่ามันอยู่กับกรรมพันธุ์มากกว่าเพราะดิฉันสอนมาตั้งแต่รุ่นพ่อ แม่ เป็นอย่างไร ลูกก็ได้อย่างนั้น ทุกวันนี้ก็สอนเต็มที่อยู่แล้วแต่จะกลับไปทบทวนเรื่องนี้อีกครั้งก็แล้วกัน ถ้าดีจริงอย่างที่ท่านว่าก็จะเข้าไปร่วมกับเขาดูบ้าง
ครู ก. เชื่อว่า นักเรียนที่เรียนอ่อนควรจัดให้เรียนร่วมกัน ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายของโรงเรียนที่เน้นให้จัดห้องเรียนซึ่งประกอบด้วยนักเรียนที่มีความสามารถที่หลากหลายกัน เธอเชื่อว่า ถ้าไม่จัดให้เด็กที่มีความสามารถใกล้เคียงกันเรียนด้วยกันแล้ว ครูจะไม่สามารถสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การจัดชุดการสอนของครู ก. จึงเน้นไปยังนักเรียนที่เรียนอ่อนเท่านั้นห้องเรียนของครู ก. มีการจัดที่นั่งเป็นระเบียบเรียบร้อยและสะอาดมาก กระดานหลังห้องจะติดประกาศต่าง ๆ เกี่ยวกับตารางเรียนและประกาศต่าง ๆของทางโรงเรียน บนกระดานด้านหน้าจะประกอบด้วยประกาศต่าง ๆ เกี่ยวกับนโยบายของทางโรงเรียน หรือคติพจน์ของโรงเรียน เช่น นโยบายปีนี้ของโรงเรียนคือ “เราจะทำให้นักเรียนทุกคนอ่านออก เขียนได้” จากการสนทนากับครู ก. ครู ก. เชื่อว่า เราไม่มีทางทำให้เด็กเรียนอ่อนพวกนี้สามารถเรียนดีขึ้นมาได้ เธอเชื่อว่า ถ้านักเรียนไม่มีระดับสติปัญญาที่สูงพอ ไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากผู้ปกครองเป็นอย่างดีแล้วและไม่ต้องการเรียนรู้ในห้องเรียนแล้ว นักเรียนประเภทนี้ควรถูกขจัดให้ออกจากห้องเรียนในที่สุด
ครู ข. เป็นครูสอนช่วงชั้นที่ 2 ครู ข. กล่าวว่าไม่มีวันปกติในห้องเรียนของเธอ เนื่องจากเธอเตรียมการสอนมาในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย เช่น สมุดแบบฝึกหัด มีการอภิปรายในชั้นเรียน การเล่นเกมการศึกษา การแสดงบทบาทสมมุติ โดยเธอเน้นรูปแบบการเรียนแบบเน้นผู้เรียน
ข้าพเจ้า : คุณมองบทบาทของนักเรียนของคุณในห้องเรียนเป็นอย่างไร
ครู ข. : พวกเขาต้องการที่จะเรียนรู้ พวกเขาจะต้องได้รับการกระตุ้นด้วยวิธีการสอนที่หลากหลายในการดึงความสามรถประดามีที่แต่ละคนมีอยู่ออกมาให้หมดในการแก้ปัญหาที่เขาพบในการเรียนรู้จากกิจกรรมที่ครูจัดให้
ขัาพเจ้า : คุณมองว่าคุณควรมีบทบาทในการจัดทำแผนปฏิบัติการของโรงเรียนหรือไม่อย่างไร
ครู ข : การทำแผนของโรงเรียนจำเป็นอย่างยิ่งที่ฉันต้องเข้าไปมีส่วนร่วม แม้ว่าเราจะมีครูอยู่น้อยคน แต่เราก็ต้องเข้าไปช่วยในการปรับเปลี่ยนรูปแบบของแผนที่ ผอ.นำมาให้เราใช้เพื่อที่ว่าจะได้เป็นแผนที่เราจะทำให้มันเกิดการทำได้จริงตามที่เราสามารถทำได้ ซึ่งเป็นเรื่องยากในการทำเพราะว่าบางคนเห็นว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็นเพราะว่าทุกวันนี้ก็สอนได้อยู่แล้วไม่เห็นว่าต้องมีแผนอะไรให้มันวุ่นวายเสียเวลาและก็ไม่เห็นว่าต้องทำตามแผนที่ ผอ.เอามาให้เลย แต่ฉันเชื่อว่าการทำแผนของโรงเรียนเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญในการจัดการเรียนรู้และการพัฒนานักเรียนให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน
ข้าพเจ้า : คุณมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการจัดทำระบบประกันคุณภาพภายในของโรงเรียน
ครู ข : เป็นเรื่องที่ทำให้ฉันรู้จักเด็ก มีการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน และสามารถจัดทำหน่วยการเรียนรู้ตามหลักสูตรของตนเองได้ . จัดการเรียนรู้ให้นักเรียน แจ่มใส อ่านได้ คิดเลขได้ จัดการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ยอมรับ ศรัทธาโรงเรียน มีการประเมินตนเองอย่างต่อเนื่อง
ครู ข. มีความกระตือรือร้นที่จะทดลองวิธีการสอนแบบใหม่ ๆ อยู่เสมอ ห้องเรียนของ ครู ข. มีการจัดและตกแต่งให้เหมือน “บ้าน” มากกว่า “โรงเรียน” โดยในห้องเรียนจะทำเป็นกลุ่มๆละ 4 คน กระจายอยูทั่วไป โดยมุมขวาของห้องเรียนจะจัดให้เหมือนห้องนั่งเล่น และมีชั้นวางหนังสือที่มีหนังสือประเภทต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ผนังห้องได้รับการตกแต่งเป็นอย่างดี มีที่ติดประกาศอยู่บนผนังรอบ ๆ ห้องเช่น “ใจสู้สู่ความสำเร็จ”
ครู ข. เป็นคนที่มองเด็กในแง่ดี เธอเน้นความสุภาพอ่อนโยนและการยอมรับนับถือที่มีต่อกันของทุกคนในห้องเรียน เธอมักให้รางวัลนักเรียนโดยการชมเชยด้วยการพูดชมต่อหน้ารวมทั้งการให้รางวัลที่หลากหลาย เช่น รางวัลเข้าเรียนโดยไม่มีวันขาดเรียน รางวัลปรับปรุงตัวได้ดีที่สุด รางวัลนักเรียนมีระเบียบวินัยดีที่สุดในสัปดาห์ ฯลฯ ครู ข. มีความสุขในการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่าง ๆ ของนักเรียนในทุกรูปแบบ
ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ดังนี้
การจัดทำแผนปฏิบัติการและการประกันคุณภาพภายในของโรงเรียนว่า : เป็นการทำงานร่วมกันของผมและคณะครูหมายถึงการทำให้ครูทุกคนรับทราบ และมีส่วนร่วมในการใช้ ฐานข้อมูลตระหนักรับรู้บทบาทหน้าที่ มีการแสวงหาวิธีการทำงาน ที่เริ่มจากการวิเคราะห์ข้อมูล กลับกลุ่มนักเรียนและหาวิธีดำเนินการพัฒนาในแต่ละกลุ่มเป้าหมายให้บรรลุตามเป้าหมายของหลักสูตรหลังจากทำงานเสร็จแล้ว ต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาดูงาน และให้ขวัญกำลังใจ. ผมต้องรู้จักครูทุกคนเป็นอย่างดีมีการประชุมให้ครูรับทราบและให้ความสำคัญกับเรื่องการประกันคุณภาพภายในเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการบริหารงานโรงเรียน
สรุปอภิปรายผล
จากการศึกษาครั้งนี้พบว่า ครูมีความต้องการที่จะให้ผู้อำนวยการโรงเรียนยอมรับ ให้โอกาสที่จะศึกษาเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน สอนของตัวเองที่จะทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการลงมือกระทำมากที่สุด พึ่งพาคนอื่นน้อยที่สุด แต่พบว่าครูทั้ง 2 คน มีความเห็นที่ขัดแย้งกันอยู่ ดังนั้น จึงไม่ชัดเจนว่าความภาคภูมิใจในพลังอำนาจของครูมาจากตัวครูเอง มาจากผู้บริหารทั้งหมด หรือมีปัจจัยมาจากประสบการณ์เดิม เป็นต้น เพราะฉะนั้น สรุปได้ว่าครูจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สามารถสร้างพลังอำนาจได้ตามศักยภาพ ต้องอาศัยความร่วมมือ ความช่วยเหลือที่ถูกวิธีหลายด้าน อาทิ
- ผู้บริหารต้องมีความเข้าใจ ไม่ย้ำปมด้อย ให้การแนะนำช่วยเหลือครูที่ยังขาดความเข้าใจในเรื่องการประกันคุณภาพใกล้เคียงกับครูที่มีความเข้าใจมากที่สุด อะไรที่เขาสามารถทำได้ก็ให้ทำทันที
- ต้องให้การศึกษาเขาผู้บริหารต้องเปิดใจกว้าง ให้ความช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น
- สำนักงานเขตพื้นที่น่าจะช่วยเหลือให้ครูมีโอกาสใช้ศักยภาพในการพัฒนางาน เช่น จัดกระบวนการนิเทศทางอ้อมให้หลากหลาย
สรุป
ดังนั้น ความสำเร็จของการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในจึงต้องมีการใช้วิธีการนิเทศหลากหลายที่ส่งเสริมให้ครูได้เกิดความภาคภูมิใจในอัตมโนทัศน์ของตนเองเพื่อให้มีศักยภาพสูงสุดในการทำงาน โรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้โอกาสแก่ครูเหล่านั้นให้แสดงศักยภาพของตนเองด้วยกลวิธีการสร้างแรงจูงใจโดยถือว่าปัญหาของครูคือธุระของโรงเรียนและเขตพื้นที่แล้ว แนวคิดของการเสริมพลังอำนาจจากประสบการณ์เดิมเพื่อพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาได้ก้าวข้ามขีดจำกัดออกสู่สาธารณชนได้อย่างภาคภูมิใจ










กิตติกรรมประกาศ

รายงานวิจัยฉบับนี้สำเร็จได้ด้วยความกรุณาของ ดร.สุมาลี นาคประดา ที่ได้กรุณาให้คำแนะนำ ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้วิจัยเพื่อให้งานวิจัยมีความเรียบร้อยสมบูรณ์มากที่สุด ผู้วิจัยขอขอบพระคุณในความกรุณาเป็นอย่างสูง ไว้ ณ ที่นี้
ขอขอบพระครูผู้บริหารโรงเรียนบ้านไผ่ล้อมและคณะครูที่ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งในการร่วมวิจัยทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอต่อการวิจัย ขอขอบพระคุณคณาจารย์ ผู้แต่ง เรียบเรียง ตำรา เอกสาร บทความต่าง ๆ ที่ผู้วิจัยใช้อ้างอิงและขอบพระคุณผู้อยู่เบื้องหลังทุกท่านที่ให้การสนับสนุนส่งเสริมในขณะศึกษาและเขียนรายงานวิจัยจนสำเร็จด้วยดี
คุณค่าและประโยชน์ทั้งหมดอันพึงมีจากงานวิจัยฉบับนี้ ผู้วิจัยขอมอบไว้เป็นเครื่องมือส่วนหนึ่งในการพัฒนาการศึกษาของชาติ

















เอกสารอ้างอิง
กลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครปฐมเขต 2 .
(2547) .การประชุมประสานแผนปฏิบัติการ ปีงบประมาณ 2548 กลุ่มเครือข่ายนิเทศที่ 3,6,
9,14 และ 15.
คณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ, สำนักงาน. (2545). การปฏิรูปกระบวนการการเรียนรู้ใน
โรงเรียนนำร่อง : รูปแบบที่คัดสรร. กรุงเทพฯ : เอส พี เค เปเปอร์ แอนด์ฟอร์ม.
ชาญชัย อาจิณสมาจาร. (2546). การนิเทศการสอนแผนใหม่. กรุงเทพฯ : บี อี ซี
ลักขณา สิริวัฒน์. ( มิถุนายน2544) การสร้างแรงจูงใจ. วารสารวิชาการ. 6(6) : 42-48.
สุจินดา ม่วงมี. (พฤศจิกายน 2548-มีนาคม 2549). บทบาทและความรับผิดชอบของอาจารย์นิเทศก์ วารสารศึกษาศาสตร์. 17(2) : 31-32
ศิรัภรณ์ เทวะผลิน. (2547). การศึกษาผลของการนิเทศการสอนแบบเพื่อนนิเทศเพื่อนที่มีการ
พัฒนาการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์. สารนิพนธ์ กศ.ม. (การมัธยมศึกษา). กรุงเทพฯ

วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

โครงร่างงานวิจัย

โครงร่างงานวิจัย


“การนิเทศแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาการทำวิจัยในชั้นเรียนของครูเครือข่ายการนิเทศของนายชลอ เอี่ยมสอาด”

2. ประวัติผู้จัดทำ

ชื่อผู้วิจัย นายชลอ เอี่ยมสอาด

ศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครปฐมเขต 2

ประสบการณ์การทำงาน นิเทศการศึกษาจำนวน 20 ปี

3. ที่ปรึกษา นายธีระพงษ์ ศรีโพธิ์ หัวหน้ากลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครปฐม เขต 2

4. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

จากการนิเทศการศึกษาและผลของการประเมินมาตรฐานสถานศึกษาพบว่า ครูส่วนใหญ่ยังไม่มีการทำวิจัยในชั้นเรียนส่งผลให้การเรียนรู้ของนักเรียนไม่เป็นไปตามความคาดหวังของหลักสูตร อันเนื่องมาจากการที่ครูขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดทำวิจัยในชั้นเรียนที่เหมาะกับสภาพการจัดการเรียนรู้ของตนเอง

จากปัญหาดังกล่าวผู้วิจัยในฐานะศึกษานิเทศก์ประจำเครือข่ายการนิเทศ จึงสนใจที่จะทำวิจัยเรื่องนี้ โดยผลการวิจัยที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียนและเป็นข้อมูลในการวางแผนพัฒนาครูในเครือข่ายการนิเทศให้มีความรู้ความสามารถในการทำวิจัยในชั้นเรียนต่อไป

5.วัตถุประสงค์ของการวิจัย

-เพื่อแสวงหาแนวทางในการนิเทศที่ส่งเสริมให้ครูเครือข่ายการนิเทศทำวิจัยในชั้นเรียนได้

6. ขอบเขตของการศึกษา

การวิจัยในครั้งนี้ กำหนดขอบเขตการวิจัยจากครู จำนวน 10 คน ที่เข้าอบรม

7. วิธีการศึกษา

การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาถึงการใช้รูปแบบการนิเทศแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาความสามารถในการทำวิจัยในชั้นเรียนของครู ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยนี้ได้จากแหล่งที่มาคือ

แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ : เอกสารที่เกี่ยวข้องที่ผู้วิจัยอื่นที่ได้ศึกษาไว้ รวมทั้งแนวคิดทฤษฎีต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้น หลักวิชาการ บทความ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิจัย

แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ : ใช้การนิเทศเป็นเครื่องมือ โดยให้กลุ่มตัวอย่างตอบด้วยตนเอง

8. ข้อตกลงเบื้องต้น

-ไม่มี

9. นิยามศัพท์

การนิเทศแบบมีส่วนร่วม หมายถึง กระบวนการ แนะนำ ช่วยเหลือ กระตุ้น ยั่วยุ เพื่อให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างผู้นิเทศกับผู้รับการนิเทศเริ่มตั้งแต่การศึกษาข้อมูล สภาพปัจจุบันปัญหา การพิจารณาตัดสินใจ การร่วมปฏิบัติการร่วมรับผิดชอบในเรื่องต่างๆ รวมทั้งการทุ่มเทความพยายามทั้งมวลเพื่อให้งานบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ทุกคนร่วมกันกำหนดขึ้น

การวิจัยในชั้นเรียน หมายถึง กระบวนการที่จะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถพัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้ของตนให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน ทำให้กระบวนการจัดการเรียนรู้ของครู มีความเป็นวิชาชีพและมีความเป็นศาสตร์ในวิธีวิทยาของการจัดการเรียนรู้

10. สมมติฐาน

- การนิเทศแบบมีส่วนร่วมมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ด้วยตนเองของครู

11. ประโยชน์คาดว่าจะได้รับ

- ทำให้ได้ทราบถึงรูปแบบที่เหมาะสมในการพัฒนาครูให้สามารถทำวิจัยในชั้นเรียนได้

- เพื่อนำผลการศึกษามาเป็นแนวทางในการปรับปรุง และพัฒนา การนิเทศของศึกษานิเทศก์

- เป็นข้อมูลให้ผู้บริหารใช้เป็นประโยชน์ในการวางนโยบาย กำหนดทิศทางการพัฒนาบุคลากรให้ถูกต้องมากขึ้น

12. ระยะเวลา

ระยะเวลาทำการวิจัยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ถึง 30 กันยายน2553 เวลาทั้งสิ้น 90 วัน

13. แนวคิด ทฤษฏี

แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการนิเทศการศึกษา

แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียน

14 ประเภทของการวิจัย

14.1ประเภทของการวิจัย : การวิจัยเชิงปฏิบัติการ

14.2 ประชากร : ศึกษาผู้ที่มาเข้ารับการอบรม

กลุ่มตัวอย่าง : กำหนดขนาดตัวอย่างในการทำวิจัยครั้งนี้10 ชุด โดยใช้วิธีการสุ่มแบบเจาะจง

ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง กำหนดไว้ 20 ตัวอย่าง ระดับความเชื่อมั่น 95% ยอมรับความคลาดเคลื่อนในการเลือกตัวอย่าง 0.05

14.3 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย : แบบสอบถาม เพื่อสะดวกในการตอบและป้องกันความสับสนโดยเน้นคำถามแบบปิด

การกำหนดรูปแบบของคำถาม แบ่งเป็น 3 ส่วน

ส่วนที่ 1 ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ตอบ ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา

ส่วนที่ 2 ข้อมูลเกี่ยวกับความพึงพอใจของผู้เข้าอบรม (มาก/ปานกลาง/น้อย)

ส่วนที่ 3 ข้อเสนอแนะอื่นๆที่ผู้ใช้บริการต้องการ

14.4 วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล : ใช้วิธีนำแบบสอบถามไปให้ผู้ตอบ โดยเข้าอบรมตอบแบบเจาะจงและรอรับกลับคืน

14.5 การวิเคราะห์ข้อมูล : โดยนำแบบสอบถามที่รวบรวมได้มาดำเนินการ ดังนี้

- ตรวจสอบข้อมูล

- ตรวจความสมบูรณ์ของการตอบแบบสอบถาม

- แยกแบบสอบถามที่ไม่สมบูรณ์ออก

- นำแบบสอบถามมาลงรหัส

- นำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดทำการบันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์

- ประมวลผลด้วยโปรแกรม SPSS

ระยะเวลาในการดำเนินการทำวิจัย วันที่ 1 มกราคม 2553 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2553



งบประมาณในการดำเนินการวิจัย -